กบ....
กบเป็นสัตว์ครึ่งบก ครึ่งน้ำ ที่ชาวไทยรู้จักกันดี และนิยมบริโภคกันมาช้านาน เมื่อก่อนในธรรมชาติยังมีกบให้จับมาใช้บริโภคอย่างไม่ขาดแคลนนัก ดังจะเห็นได้ชัดในช่วงของฤดูฝน ปริมาณของกบที่จับมาวางขายในท้องตลาดมีจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการ
ปัจจุบันนี้ คนนิยมบริโภคกบเป็นอาหารกันมากขึ้นตามบ้าน ร้านอาหารและภัตตาคาร มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้จากรายการอาหารของภัตตาคารชั้นนำในต่างประเทศ ขณะที่ความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้น ปัจจุบันปริมาณของกบมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดดังกล่าว และไม่สามารถสนองความต้องการของตลาด ในปริมาณที่สม่ำเสมอได้เนื่องจากปริมาณของกบที่จำหน่ายส่วนใหญ่ยังได้จากการจับตามธรรมชาติ ซึ่งนับวันก็จะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะว่าการจับกบมาบริโภคโดยไม่คำนึงถึงฤดูกาล และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ที่เอื้ออำนวยต่อการขยายพันธุ์ของกบได้ถูกบุกรุกหรือทำลายโดยมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกปี จึงนับว่ามีโอกาสลงทุนที่ดีในการเลี้ยงกบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังภัตตาคารในต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี แทนการจับกบตามธรรมชาติมาส่งตลาดซึ่งหายากและขาดแคลน
ตลาด
กบเป็นอาหารที่นิยมบริโภคกันมาก เพราะเนื้อกบเป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าสูง สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง ถ้ากบมีขนาดใหญ่ จะนำมาแยกเอาส่วนขาหลัง ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวแล้วส่งไปจำหน่ายตามร้านอาหาร และภัตตาคาร สำหรับหนังกบนิยมนำมาตากแห้งและทอดกรอบ และยังสามารถนำหนังกบไปทำกระเป๋า รองเท้า เครื่องดนตรี และของชำร่วยต่างๆ ส่วนหัว อวัยวะระบบทางเดินอาหาร และกระดูกที่ตัดชำแหละแล้ว นำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ ( ทั้งสดและป่นแห้ง ) ปริมาณการบริโภคในประเทศไม่สามารถประมาณการได้ ราคาจำหน่ายในฤดูฝนจะราคาถูกกว่าในฤดูแล้ง
ได้มีบริษัทเอกชนรวบรวมซื้อกบจากแหล่งต่างๆเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ฮ่องกง นำเข้ากบประมาณร้อยละ 99.6 ของมูลค่าส่งออกกบของไทย ส่วนประเทศที่นำเข้าเนื้อกบที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐอาหรับเอมิเรต และเยอรมันตะวันตก การส่งออกจะทำทั้งในสภาพกบที่ยังมีชีวิตที่มีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 200 - 300 กรัม และในรูปของขาหลังกบแช่แข็งที่มีขนาดน้ำหนัก 25 - 30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวทั้งหมด ส่วนหนังกบก็มีการส่งออกด้วยเช่นกัน
กบในประเทศไทย
กบที่พบในประเทศไทยมี 38 ชนิด แต่ที่พบทั่วๆไป มีดังนี้ คือ
1. กบบัว มีขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 2 นิ้ว น้ำหนัก ตัวประมาณ 30 ตัว ต่อหนึ่งกิโลกรัม
2. กบนา มีขนาดกลาง สีน้ำตาลปนดำ ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 4 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 6 ตัว ต่อหนึ่งกิโลกรัม
3. กบจาน มีขนาดใหญ่ สีน้ำตาลปนเขียว ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 5 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 4 ตัว ต่อหนึ่งกิโลกรัม
4. กบภูเขา หรือ เขียดแลว เป็นกบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ชาวบ้านนิยมจับมาบริโภคกันมาก โดยเฉพาะที่แม่ฮ่องสอน กบภูเขาอยู่ในสภาพธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงทุกที
|